เพลงเขมรปากท่อ เหล่ากอไทยทรงดำ วัฒนธรรมกะเหรี่ยง เสียงน้ำตกไทยประจัน แหล่งพันธุ์ไม้ผล ถิ่นคนน้ำใจงาม มากฟาร์มสุกร พระนอนเขาถ้ำทะลุ

21 พฤศจิกายน 2552

........เพลงเขมรปากท่อ เหล่ากอไทยทรงดำ วัฒนธรรมกะเหรี่ยง เสียงน้ำตกไทยประจัน แหล่งพันธุ์ไม้ผล ถิ่นคนน้ำใจงาม มากฟาร์มสุกร พระนอนเขาถ้ำทะลุ
........
ประวัติความเป็นมา
........พื้นที่ทั่วไปอำเภอปากท่อเป็นที่ราบส่วนมาก และมีพื้นที่แห่งหนึ่งต่ำกว่าแห่งอื่นเรียกว่า " หนองทะเล " ในฤดูฝนน้ำจากตำบลต่างๆ จะไหลมารวมกันจะไหลไปทางไหนไม่ได้ เวลาน้ำไหลออกจากหนองทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอปากท่อ จึงได้ขนานนามพื้นที่หนองทะเลใหม่ว่า " ปากท่อ"
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเมืองราชบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอวัดเพลง และอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเขาย้อยและอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอบ้านคาและอำเภอจอมบึง.......
........
สถานที่ท่องเที่ยว
1. อุทธยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน ที่ตั้ง หมู่ 5 ต.ยางหัก อ.ปากท่อ
2. ถ้ำเขาทะลุ (เขาถ้ำพระ) ที่ตั้ง หมู่ 3 ต.ดอนทราย อ.ปากท่อ
3. ตลาดน้ำวัดยางงาม ที่ตั้ง หมู่ 1 ต.วัดยางงาม อ.ปากท่อ
4. วัดเขาพุนก ที่ตั้ง หมู่ 3 ต.ห้วยยางโทน
5. สถาบันส่งเสริมพระพุทธศาสนา ที่ตั้ง หมู่ 7 ต.ดอนทราย
6. วัดเขาอีส้าน ที่ตั้ง หมู่ 6 ต.ดอนทราย
........อำเภอปากท่อเป็นอำเภอสุดแดนราชบุรีทางทิศใต้ ต่อจากอำเภอวัดเพลง ชนกับเขตแดนเพชรบุรี มีเทือกเขาตะนาวศรียาวห้อมล้อมปากท่อเอาไว้ ดินแดนแห่งนี้เป็นหนึ่งในผืนดินต่อกับสามเหลี่ยมปากน้ำเจ้าพระยาอันเป็นผิวดินที่อุดมสมบูรณ์เพราะเกิดจากการสะสมโคลนตะกอนจากแม่น้ำใหญ่ทั้งหลาย ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี แม่กลอง ท่าจีน เจ้าพระยา และบางปะกง
........อาชีพของคนปากท่อทำเกษตรกรรมกันมาก ปลูกมะม่วงอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด สับปะรด และเป็นย่านเลี้ยงหมูใหญ่ที่สุดในราชบุรี ประชากรเป็นกลุ่มชนเขมร ลาวโซ่ง กะเหรี่ยงและผู้อพยพทั้งหลาย
........กลุ่มชาวเขมรและเขมรลาวเดิม จะอยู่บ้านกระดาน บ้านบ่อตะค้อ บ้านโคกพระ และบ้านหนองจอก เป็นชาวเขมรที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ปี พ.ศ.1314 ที่ยังคงพูดภาษาเขมรคล้ายกับทางสุรินทร์มีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นเขมรลาวเดิม ซึ่งคือชนชาวลาวจากเวียงจันทร์หลวงพระบาง ที่ไปอาศัยในดินแดนเขมาจนเกิดเป็นกลุ่มชนขึ้น เรียกตนเองว่าเขมรลาวเดิม ภาษาที่ใช้พูดผสมผสานกันระหว่างภาษาเขมรกับภาษาลาว ยังคงรักษาประเพณีเชื่อผี คือ "ผีอารักษ์" เป็นผีต้นตระกูล มีอะไรในบ้านไม่ว่าลูกจะเกิด จะบวช ใครจะแต่งงาน ใครเจ็บป่วยก็จะเซ่นสรวงบอกผีอารักษ์ให้รับทราบให้คุ้มครองเสมอ
........ลาวโซ่ง หรือไทยทรงดำหรือไทยดำ ชอบสวมด้วยผ้าพื้นสีดำทั้งหมดหรือเพลงที่เคยดังคือ "เพลงไทยดำรำพัน" ขึ้นต้นเพลงว่า "สิบห้าปีที่ไทยเฮาเสียดายเด้ (ลูกคู่) เฮละวา"
........ลาวโซ่ง ไทยทรงดำ หรือไทยดำ ถูกต้อนเข้ามาครั้งแรกปี พ.ศ.2322 สมัยกรุงธนบุรี จากดินแดนมาตุภูมิเดิมคือ เมืองแถงหรือเมืองเดียนเบียนฟู อยู่ในประเทศเวียตนาม เรียกตัวเองว่า "ลาว" คำพูดภาษาออกไปทางศัพท์สำเนียงไทยปนลาว แต่งกายประเพณีเดิมผู้ชายนุ่งซ่งก้อม (กางเกงขาสั้นสีดำ) ผู้หญิงนุ่งซิ่นลายแตงโมพื้นซิ่นสีดำ ตัวลายสีฟ้าคราม นุ่งแบบพับทบมาด้านหน้าทั้ง 2 ข้าง วางไว้กึ่งกลางลำตัวพอดี ผู้ชายสวมเสื้อฮีในพิธีกรรม ลวดลายสวยๆ ที่ปักทออย่างดีตลบเอาไว้ด้านในหมด ผู้หญิ่งมีผ้าสะไบยาวผืนสีดำมีลายอย่างโซ่ง ปักสองหน้าที่ชายผ้าทั้ง 2 ข้างเป็นรูปวงกลมเล่นเส้นสลับสีด้ายงดงามประณีตมาก หญิงที่ยังสาวปั้นเกล้าผมไว้กลางศีรษะ ถ้าอายุมากแล้วเกล้าจะคล้อยไปทางด้านหลัง
........บ้านลาวโซ่งมีแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติราชบุรีเป็นใต้ถุนสูง หลังคาโค้งเป็นกระโจมลงต่ำ มีห้องผีเรือนซึ่งมีสัญลักษณ์แน่นอนคือ รู ที่ข้างฝาบ้านให้ผีเข้าผีออก แม้บ้านจะเปลี่ยนแปลงไปแบบต่างๆ แล้วแต่ยังคงรักษาเอาไว้เรียกว่า “บ้านรู”
........กะเหรี่ยง อยู่กันมากในตำบลท่ายาง ชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้อพยพหลบภัยสงครามมาจากเมืองทวาย มะริด เข้ามาทางแถบชายแดนพม่า เป็นกะเหรี่ยงโปว์หรือทางภาคเหนือเรียกว่า ยางแดงหรือยางน้ำ ยังคงรักษาประเพณีกินข้าวห่อ เดือนเก้า ซึ่งจะแต่งกายชุดกะเหรี่ยงกันเต็มยศ และรวมศูนย์กันไปงานวัดหลวงพ่อนวมที่วัดแจ้งเจริญ ในเดือนห้าหรือเดือนเมษายน ผู้ชายจะปั้นผมรวบไว้ที่เหนือหน้าผาก เรียกว่า “ถ้องคุ” มีผ้าสีเป็นแถบพันรอบหัวและรอบผมที่ปั้นไว้
........
........อุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจันต์ เป็นอุทยานแห่งชาติที่กว้างใหญ่มีพื้นที่ 136,250 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอปากท่อจนถึงอำเภอสวนผึ้ง บริเวณนี้พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขาตะนาวศรี เป็นแหล่งป่าและต้นน้ำลำธาร ห้วยแม่ประจันต์ ผืนป่าและขุนเขาเป็นป่าชนิดป่าดิบแบบภูเขา ป่าดิบแบบแห้งแล้ง ป่าเบญจพรรณ สัตว์ป่ายังอาศัยอยู่ เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวแบบเดินป่าสัมผัสธรรมชาติ
........ภายในอุทยานมีน้ำตกแม่ประจันต์ มีน้ำพุร้อน แต่ภายในอุทยานไม่มีที่พัก ถ้าต้องการเดินป่าควรหาข้อมูลจากสำนักงานป่าไม้เขตจังหวัดราชบุรี
........วัดเขาถ้ำพระ (บ้านดอนทราย) เห็นพระเจดีย์เด่นชัดอยู่บนยอดเขา วัดแห่งนี้อยู่ในตำบลดอนทราย ทางซ้ายมือที่ซุ้มประตูทางขึ้นเขาไปยังถ้ำพระมีห้องศาลาประดิษฐานรูปเหมือนของหลวงพ่อสอน ฐานธมฺโม ผู้ก่อสร้างวัดแห่งนี้ บันไดขึ้นถ้ำสูง 83 ขั้น หน้าถ้ำเป็นลานกว้าง ยืนชมวิวจากที่สูงได้ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปจำนวน 42 องค์ เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดี ทางซ้ายมือหน้าถ้ำมีบันไดขึ้นไปนมัสการพระเจดีย์ห้าองค์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
........หุบผาสวรรค์ เลยจากเขาถ้ำาพระไปเพียงเล็กน้อย ถึงประตูทางเข้าวัดมีตัวหนังสือเขียนว่า “อาณาจักรหุบผาสวรรค์เมืองศาสนา” ป้ายอันใหม่เขียนว่า “สถาบันส่งเสริมและพัฒนาพระศาสนา กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ” ด้านในบริเวณหุบผาสวรรค์เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” คณะสานุศิษย์สำนักปู่สวรรค์บูรณะถ้ำ วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2514 บริเวณสถานที่โดยรอบเป็นเทือกเขาเตี้ยโอบล้อมอย่างสวยงาม ด้านหน้ามีพระรูปรัชกาลที่ 1 ประดิษฐานอยู่บนแท่น
........ค่ายมณีลอย เป็นที่ตั้งศูนย์มณีลอย มีแนวลวดหนามกั้นสองชั้น เป็นเขตผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงและพม่า มีศูนย์นักศึกษาพม่าอยู่ในที่แห่งนี้ เพิ่งมีการล้อมลวดหนามหลังจากเกิดเหตุยึดโรงพยาบาลราชบุรีและจับตัวประกันของกลุ่มก๊อดอาร์มี เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2543 หน้าค่ายมีตลาดเช้าของชาวบ้านไทย นำของไปขายให้กับชาวค่าย
ที่มา : ยอดแต้ว อักษรา. ราชบุรี. (2543). แสงแดด, กรุงเทพฯ

2

3

4

5

6

7